รัฐหนุนเหล็กไทยโตต่อเนื่อง “Made in Thailand” ปลุกเศรษฐกิจคึกคัก

      ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. ฟันธงอุตสาหกรรมเหล็กฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 แล้ว หลังจากปี 2563 ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยหดตัว 12% คาดปี 2564 ความต้องการใช้เหล็กเพิ่ม 15% มั่นใจนโยบายภาครัฐช่วยดันปริมาณการใช้เหล็กโตต่อเนื่องถึงปี 2565
      นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าในปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กสำเร็จรูป (Finished Steel Products) ของโลกแทบไม่ขยายตัว ปริมาณอยู่ที่ 1,775 ล้านตัน (+0.1% จากปี 2562) แต่ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยถดถอยลงถึง -12% เหลือเพียง 16.4 ล้านตัน
      สำหรับปี 2564 อุตสาหกรรมเหล็กโลกปรับตัวดีขึ้น คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้เหล็กของโลกขยายตัว +4.5% เป็น 1,855 ล้านตัน ภูมิภาคที่มีอัตราการฟื้นตัวความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากสุด คือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ +23.2% ส่วนจีนความต้องการใช้เหล็กจะถดถอย -1% เพราะปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงหลังของปี
      การใช้เหล็กของอาเซียนจะฟื้นตัวราว +6.6% และประเทศไทยจะมีอัตราการฟื้นตัวที่ดีกว่า โดยคาดว่าปริมาณความต้องการใช้เหล็กของไทยทั้งปีราว 18.9 ล้านตัน +15% เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายหลังจากการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากรส่วนใหญ่ การเปิดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินการได้มากขึ้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรม และการส่งออกมีแนวโน้มและทิศทางที่ฟื้นตัว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตสินค้าเหล็กภายในประเทศ +14% และการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มขึ้นมากถึง +23% จากปี 2563
 
ชี้ราคาไม่ผันผวนแล้ว
     ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กวิเคราะห์สถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลกว่าได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วเมื่อกลางปี 2564 และได้ปรับลดลงโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย แต่โอกาสที่ราคาสินค้าเหล็กจะลดต่ำจนเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 คงเป็นไปได้ยาก ระดับราคาน่าจะปรับตัว ไม่เหวี่ยงขึ้นหรือลงรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา
      สำหรับปี 2565 คาดว่าความต้องการใช้เหล็กของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.2% เป็น 1,896 ล้านตัน โดยประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ใช้เหล็กมากที่สุดในโลก จะมีความต้องการใช้เหล็กทรงตัวที่ 985 ล้านตัน (สัดส่วน 52% ของทั้งโลก) ใกล้เคียงกับปีนี้ และประเทศไทยจะมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่ม +6% เป็น 20 ล้านตัน เนื่องจากปัจจัยบวกการลงทุนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่ยังเติบโตต่อเนื่องในอัตรา 6.4% และ 6.7% ตามลำดับ
      ตามที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กขอให้ภาครัฐพิจารณาขยายผลการส่งเสริมการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศ นอกเหนือจากการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ให้ครอบคลุมถึงโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐเอกชน พ.ศ. 2562 ด้วยนั้น ล่าสุดได้รับการตอบรับที่ดีจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงคมนาคม ซึ่งได้กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ โดยให้ผู้ยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุน (Request for Proposal : RFP) ในโครงการต่างๆ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เช่น 1.สายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 2.สายสีม่วง (ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 3.สายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) 4.สายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) 5.สายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-หลักสอง) ต้องแสดงรายการและรายละเอียดการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ ตามข้อแนะนำว่าควรใช้ทรัพยากรภายในประเทศไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่างานโยธา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งหากหน่วยงานภาครัฐกระทรวงต่างๆดำเนินการในแนวนโยบายเดียวกันนี้ จะยิ่งสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศได้มหาศาล
ย้ำมาตรการรัฐยังสำคัญ
     ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กกล่าวอีกว่ามาตรการที่หลายประเทศใช้ในช่วงสู้ภัยโรคระบาดโควิด-19 และฟื้นฟูประเทศ นอกเหนือจากการลงทุนภาครัฐเพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ประเทศต่างๆ ได้ดำเนินหลากหลายมาตรการทางการค้าอย่างเข้มงวดและทันการณ์ ได้แก่ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Counter
vailing Duty : CVD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention : AC) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) เพื่อปกป้องส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศของตน ไม่ว่าประเทศที่ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดของโลก ได้แก่ 1.จีน 2.อินเดีย 3.ญี่ปุ่น 4.อเมริกา 5.สหภาพยุโรป หรือประเทศผู้ผลิตในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ในขณะที่ประเทศไทยมีการดำเนินการเพียงมาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เท่านั้น
     “กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.เชื่อว่ามาตรการต่างๆ จะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศสามารถใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 34% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับการใช้กำลังการผลิตเหล็กเฉลี่ยของโลกที่ 74% รวมถึงสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กในปัจจุบันไปสู่ยุคอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน”

Comments

More Events