ไทยน่ากังวล เมื่อ "เศรษฐกิจโลก" ดีขึ้น ดันเหล็กแพง คอนเทนเนอร์ยังวิกฤติ

ในขณะที่ "เศรษฐกิจโลก" กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยกลับสวนทาง ต้องเผชิญ "ความกังวล" ภายใต้ "ความต้องการ" ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ "ราคาเหล็ก" แพง แถมวิกฤติ "คอนเทนเนอร์" ขาดแคลนก็ยังไม่คลี่คลาย
ณ วันนี้ (21 พ.ค. 64) ก็ผ่านมาจนจะครบครึ่งปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่า แทบไม่มีอะไรที่ต่างจากช่วงปีก่อน (2563) หรืออาจจะหนักหนากว่าด้วยซ้ำ สำหรับประเทศไทยที่เวลานี้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทะลุ 1.2 แสนราย เพิ่มขึ้นต่อวันเป็นพันๆ คน ในส่วนนี้แน่นอนว่า "ความกังวล" คงหนีไม่พ้นการควบคุมโควิด-19 และการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย แต่ในส่วนอื่นๆ... นอกจากแรงงานและความมั่นคงของการทำงานภาครัฐ ยังมี "ราคาเหล็ก" และ "วิกฤติคอนเทนเนอร์" ที่เกริ่นไว้
หากยังจำกันได้... เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เคยรายงานกรณี "วิกฤติคอนเทนเนอร์" ขาดแคลนไปแล้ว ซึ่งในเวลานั้น เราจะได้ยินเสียงบ่นระงมจากภาคเอกชนทั่วทุกมุมโลกว่า แบก "ต้นทุน" แทบไม่ไหวแล้ว เพราะราคาแพงขึ้น +300-500% ทีเดียว และคาดการณ์ว่า สถานการณ์นี้น่าจะยืดเยื้อไปจนถึงกลางปี
 
แต่เมื่อใกล้จะถึงกลางปีแล้ว กลับพบว่า "วิกฤติคอนเทนเนอร์" ไม่ได้ดีขึ้นสักเท่าไร...
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยืนยันกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า การขาดแคลนคอนเทนเนอร์ยังวิกฤติอยู่ และยิ่งเวลานี้ เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด ก็ส่งผลให้การใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกเติบโตขึ้นไปอีก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะลากยาวไปถึงไตรมาส 4 เมื่อผสมกับปัญหาอื่นๆ เช่น ราคาน้ำมันขึ้น ก็ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเยอะขึ้น ประเมินว่าเพิ่มต้นทุนส่งออกเป็นเท่าตัว หรือมากจนมีนัย
 
สำหรับ "วิกฤติขาดแคลนคอนเทนเนอร์" ยามนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ออก... เพราะความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่คอนเทนเนอร์กลับอยู่ผิดที่ผิดทาง จึงทำให้ "ไม่เพียงพอ" ซึ่งนั่นเป็นปัญหาที่อาจมีส่วนทำให้เกิด "เงินเฟ้อ!"
 
นึกภาพง่ายๆ ความต้องการบริโภค... มีมากเกินกว่าจำนวนคอนเทนเนอร์ที่ใช้การได้ ก็สร้างภาระต้นทุนแก่ผู้ค้า แล้วมีหรือ "ผู้ค้าปลีก" จะยินยอมแบกรับไว้คนเดียว "ผู้บริโภค" ไม่พ้นจะตกเป็นผู้รับภาระจากการที่ต้องซื้อ "สินค้าแพง"
หากสงสัยว่า คอนเทนเนอร์ขาดแคลนมานานแล้วทำไมยังไม่คลี่คลายสักที?
 
คำตอบก็ไม่ต่างจากบรรทัดด้านบน คือ ความต้องการมากเกินไป แต่คอนเทนเนอร์ที่จะใช้ไม่พอ แม้ว่า ผู้ผลิตคอนเทนเนอร์รายใหญ่อย่าง "จีน" จะเร่งกำลังผลิตเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม เช่น 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ CIMC, DFIC และ CXIC ที่ผลิตคอนเทนเนอร์กว่า 80% ของทั้งหมดในโลก ก็พบว่า ปริมาณคอนเทนเนอร์ ปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 6-8%
 
"ราคาคอนเทนเนอร์" เพิ่มมากแค่ไหน?
ปัจจุบัน ราคาคอนเทนเนอร์อยู่ที่ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อ CEU หรือประมาณ 1.1 แสนบาท เทียบกับต้นปี 2563 อยู่ที่ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อ CEU หรือประมาณ 5.7 หมื่นบาท และปลายปี 2563 ที่อยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อ CEU หรือประมาณ 7.9 หมื่นบาท โดยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.) ต้นทุนอยู่ที่ราวๆ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อ CEU หรือประมาณ 1.1 แสนบาท
 
หรือแม้แต่ "คอนเทนเนอร์ใช้แล้ว" หรือ "คอนเทนเนอร์มือ 2" ที่พบว่า ราคาในตลาดเพิ่มขึ้นฮวบฮาบ โดย Container xChange รายงานว่า ราคาคอนเทนเนอร์ใช้แล้วในจีนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 1,299 ดอลลาร์สหรัฐต่อ CEU หรือประมาณ 4.1 หมื่นบาท ในเดือนพฤศจิกายน 2563 พอมาถึงเดือนมีนาคม 2564 เป็น 2,521 ดอลลาร์สหรัฐต่อ CEU หรือประมาณ 7.9 หมื่นบาท
 
เรียกว่า ราคาคอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นแทบจะสัปดาห์ต่อสัปดาห์ทีเดียว!
 
มาต่อกันที่อีก "ความกังวล" อย่าง "ราคาเหล็ก"
 
ว่าแต่การที่ "ราคาเหล็ก" พุ่งสูงกระทบมากน้อยแค่ไหนสำหรับไทย?
 
นายสุพันธุ์ อธิบายคร่าวๆ ว่า เมื่อ "ราคาเหล็ก" เพิ่มสูงขึ้นก็ย่อมกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน อย่าง "การก่อสร้าง" ที่มีการใช้เหล็กจำนวนมาก ก็ย่อมกระทบต้นทุน เรียกว่ากระทบทุกคนที่ใช้สินค้าเหล็กเป็นส่วนประกอบ แม้คนต้นน้ำเหล็กจะมีความสุข แต่คนที่เป็นเหล็กซัพพลายเชน (Supply Chain) ต้องเจอต้นทุนที่สูงขึ้น
 
"จีน" เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ "ราคาเหล็ก" แพงหรือไม่?
 
นายสุพันธุ์ ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจีน แต่ส่วนอื่นๆ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดีขึ้น จึงทำให้การก่อสร้าง การพัฒนาต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน เริ่มกลับเข้ามา จึงทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น
โดย Fitch Rating คาดการณ์ว่า ราคาเหล็กของจีนจะเริ่มชะลอตัวลงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพราะเป็นฤดูกาลที่มีแนวโน้มว่า ความต้องการจะน้อยลงจากกิจกรรมก่อสร้างที่เริ่มลดลงด้วย อีกทั้งยังประเมินว่า ราคาแร่เหล็กที่สูงขึ้นบวกกับข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมจะทำให้เกิดผลประโยชน์ขนาดใหญ่ต่อ "ผู้ผลิตเหล็ก" ที่ยินยอมให้โรงงานปฏิบัติตามข้อบังคับสิ่งแวดล้อม
 
สำหรับ "ประเทศไทย" ภาพที่เกิดขึ้นยังคงไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลง แม้ขณะนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเร่งให้แก้ไขดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมโดยเร็ว แต่ก็หากสถานการณ์ภายนอกยังเป็นแบบนี้ หนีไม่พ้นที่ "ผู้บริโภค" จะเป็น "ปลายห่วงโซ่" แบกรับภาระอีกเช่นเดิม.
 

Comments

More Events