Update สถานการณ์ราคาเหล็ก!! ด่วนๆๆ

อุตสาหกรรมเหล็ก ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาพบกับความยากลำบากในการทำธุรกิจ ปีนี้ทิศทางแนวโน้มจะเป็นอย่างไร ฟังจาก 2 กูรูในวงการ
อุตสาหกรรมเหล็ก ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาพบกับความยากลำบากในการทำธุรกิจ ทั้งเศรษฐกิจโลกยํ่าแย่ ราคาวัตถุดิบต้นทางไม่ว่าจะเป็นสินแร่เหล็ก, บิลเล็ต (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น), สแลป (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กทรงแบน เช่นกลุ่มเหล็กแผ่น) ล้วนมีราคาผันผวน อีกทั้งภาพรวมราคาเหล็กในตลาดโลกอยู่ในภาวะขาลง โดยมีจีนเป็นตัวแปรสำคัญเนื่องจากเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กในไทยก็ตกที่นั่งลำบาก ผู้ประกอบการขนาดกลาง แบกภาระขาดทุนทนพิษไข้ไม่ไหวก็ปิดกิจการไป รายใหญ่ก็ดิ้นรนปรับกลยุทธ์ด้านผลิตและด้านการตลาดเป็นรายวัน ทั้งลดต้นทุนด้านคน ลดสต๊อกวัตถุดิบ เพื่อลดความเสี่ยงของราคาที่ผันผวน เปิดมาต้นปี 2564 มีคำถามว่าจะมีข่าวดี ๆ เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเหล็กไทยได้หรือยัง มาฟังมุมมองจาก 2กูรูในวงการเหล็ก ท่านแรก นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัยผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และนายกรกฏ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฉายภาพให้เห็นข่าวดีของวงการเหล็กในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวด้านราคา น่าติดตาม สัญญาณบวกเริ่มมานายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เผยว่า ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเริ่มมองเห็นสัญญาณบวก จากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นทุกตลาด ทั้งราคาผลิตภัณฑ์เหล็ก และราคาวัตถุดิบ โดยราคาเหล็กเส้นก่อสร้าง (Rebar) ในภูมิภาคอาเซียนปรับเพิ่มจาก 462 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 ทะยานขึ้นไปสูงสุดที่ 643 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 38% ในระยะเวลา 3 เดือน เมื่อเข้าสู่ต้นปี 2564 ราคาได้เพิ่มต่อเนื่องมาอยู่ที่ 647 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาเศษเหล็ก พบว่า เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า โดยเศษเหล็ก HMS 1&2 ปรับเพิ่มจาก 270 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 และสูงสุดที่ 436 ดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 61% ในช่วง 3 เดือน กระทั่งหลังปีใหม่ราคายังคงปรับขึ้นต่อที่ 445 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนอ่อนตัวลงเล็กน้อยมาที่ 443 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน สำหรับราคาเหล็กกึ่งสำเร็จรูปทั้งบิลเล็ต (ใช้แปรรูปเป็นเหล็กเส้น เหล็กลวด เป็นต้น) / สแลป (ใช้แปรรูปร้อนเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อน) มีราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยราคาบิลเล็ตในโซนภูมิภาคอาเซียนเพิ่มจาก 445 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วงต้นเดือนตุลาคม  2563 เป็น 586 ดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงสิ้นปี (เพิ่มขึ้น 32%) และทำสถิติสูงสุดในปัจจุบันที่ราคา 604 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนราคาสแลปเพิ่มจาก 465 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 ขึ้นมาเป็น 630 ดอลล์าร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน (เพิ่มขึ้น 35%) และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 663 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน
การใช้เหล็กโลกเริ่มฟื้นสถานการณ์ราคาเหล็กที่ปรับขึ้นทั่วโลกมีปัจจัยมาจากการฟื้นตัวของความต้องการใช้เหล็กในประเทศต่าง ๆ ที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างและการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของรัฐในหลายประเทศที่อัดฉีดเม็ดเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้หากเปรียบเทียบเป็นดัชนีราคาตั้งแต่ต้นปี 2563 จะพบว่า การปรับขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์เหล็กสัมพันธ์กับทิศทางราคาวัตถุดิบ โดยความเคลื่อนไหวของราคาเหล็กเส้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาเศษเหล็กและสินแร่ ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เป็นต้นมา  จีนแย่งซื้อเหล็กกึ่งสำเร็จรูปขณะที่ นายกรกฏ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ยังเป็นผลมาจากการเข้าแย่งซื้อเหล็กกึ่งสำเร็จรูปของจีนในตลาดโลก โดยแต่เดิมจีนเคยเป็นผู้ส่งออกเหล็กกึ่งสำเร็จรูป แต่หลายปีที่ผ่านมา จากนโยบายของรัฐบาลจีนในการจำกัดการส่งออกเหล็กกึ่งสำเร็จรูปด้วยการขึ้นภาษีส่งออกในระดับสูง ทำให้ผู้ผลิตเหล็กจีนไม่ส่งออกสินค้ากลุ่มนี้  ขณะที่แต่ละปีจะนำเข้าในปริมาณตํ่ามาก เนื่องจากจีนมีการผลิตอย่างเพียงพอภายในประเทศ  แต่สิ่งที่ผิดปกติอย่างมากคือ ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 การนำเข้าเหล็กกึ่งสำเร็จรูปของจีนได้ทะยานขึ้นเป็น 15.8 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 920% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งบิลเล็ตและสแลป  ส่งผลให้สัดส่วนการซื้อของจีนเพิ่มขึ้นจาก 1.1% ของการค้าในตลาดโลกในปี 2560 ขึ้นเป็น 35.2% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาเหล็กกึ่งสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเหล็กสำเร็จรูปในทุกกลุ่ม
สัดส่วนผลิตเหล็กจีนต่อโลกเพิ่มขึ้นนายกรกฎ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลกที่มีสัดส่วนของปริมาณผลผลิตเหล็กโดยรวม เท่ากับ 58% ของปริมาณการผลิตทั้งโลก (ตามรายงานผลผลิตเหล็กดิบของโลกจาก World Steel Association ซึ่ง 11 เดือนแรกของปี 2563 มีการผลิตของจีน 951.16 ล้านตัน เทียบกับผลผลิตรวมของโลกที่ 1,670.40 ล้านตัน) จากปี 2562 มีสัดส่วน 53% ดังนั้นทิศทางราคาเหล็กในตลาดโลกขณะนี้จึงได้รับอิทธิพลจากผู้ผลิตของจีนเป็นอย่างมาก “เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า อุตสาหกรรมเหล็กจีนถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลางผ่านกลไกทางตรงและทางอ้อม ของบริษัทเหล็กจีนจำนวนมากที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลจีน  และมีข้อมูลมากมายที่ยืนยันคำกล่าวนี้  ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ กรณีสหภาพยุโรป (EU) ไต่สวนการตอบโต้การอุดหนุนตลาด (Anti-Subsidy) สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสีจากจีน ผลการไต่สวน พบว่า รัฐบาลจีนมีการควบคุมอุตสาหกรรมเหล็กต้นนํ้าและได้ให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตในราคาที่ได้รับการอุดหนุนผ่านการซื้อจากบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตทั้งเหล็กแผ่นรีดร้อน (HRC) และเหล็กแผ่นรีดเย็น (CRC) ในราคาที่ตํ่ากว่าราคาตลาด ขณะเดียวกันผลการไต่สวนยังพบว่า เหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศจีนอย่างน้อย 63% ของปริมาณที่ผลิตมาจากผู้ผลิตเหล็กที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน” ตัวอย่างล่าสุดที่แสดงถึงอิทธิพลของรัฐบาลจีนและอุตสาหกรรมเหล็กจีน คือ การกล่าวของ นาย Xiao Yaqing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MITI) ในงานสัมมนาแห่งหนึ่งวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ว่าประเทศจีนจะต้องลดปริมาณการผลิตเหล็กลงในปี 64 เพื่อเป็นการลดการปล่อยมลภาวะ  ในเวลาใกล้เคียงกัน กระทรวง MITI ของจีนได้ประกาศแผนแม่บทอุตสาหกรรมเหล็กประเทศจีน ซึ่งอยู่ภายใต้แผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 โดยระบุเป็นหนึ่งในหกข้อของแผนแม่บทว่า ปี 64 ประเทศจีนจะต้องลดปริมาณผลผลิตเหล็กให้ลดลง ซึ่งจากการให้ข่าวดังกล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการได้ทำให้ราคาเหล็กที่ปรับลดลงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2563 ทรงตัวอีกครั้งในช่วงก่อนสิ้นปี  และกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ในช่วงวันที่ 4 มกราคม 2564 หลังจากเปิดปีใหม่ ดังนั้นแล้วเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าประเทศจีน และรัฐบาลจีนมีอิทธิพลในการควบคุมโครงสร้างการค้าสินค้าเหล็กของโลก

Comments

More Events