ยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมสู่ “สมาร์ท แฟกตอรี่”

กุญแจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นผู้ประกอบการยุคใหม่ได้เรียนรู้และปรับตัวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ภาคธุรกิจและทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญถึงปัจจัยการมีส่วนร่วมที่สำคัญในการอนุรักษ์และรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย ทุกภาคส่วนจึงเริ่มหันมามองการพัฒนาการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม อย่างจริงจัง นำไปสู่การพัฒนาในมิติใหม่ผ่านการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงแผนการดำเนินงานการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยจะใช้แนวทาง การส่งเสริมเพื่อมุ่งเน้นพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน นำเอาเทคโนโลยีการผลิต สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยมาปรับใช้อย่างบูรณาการ เริ่มจากสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ประกอบการ แต่เดิมใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน เมื่อกระบวนดังกล่าวแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาน้อยลง นำเอาดิจิทัลมาปรับใช้ทำให้ภาพรวมในอนาคตมีทิศทางที่คล่องตัวขึ้น มุ่งหน้าสื่อสารและมอบองค์ความรู้เกี่ยวกับ Smart Factory และอุตสาหกรรม สีเขียวให้แก่ภาคธุรกิจ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยว่าภารกิจหลักในการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตที่ช่วยลดการใช้วัตถุดิบ พลังงานน้ำ ไฟ และลดการก่อมลภาวะ ในแง่ของการกำกับดูแลนั้น เริ่มดำเนินการปรับพระราชบัญญัติโรงงานให้สอดรับกับงบประมาณ และยกระดับการจัดการให้เกิดความสมดุล อาทิ โรงงานกลุ่มที่ 1 และโรงงานกลุ่มที่ 2 ที่มีกำลังผลิตแรงม้าไม่เกิน 50 แรงม้าทางหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในชุมชนจะมีส่วนร่วม ในการพัฒนา สำหรับโรงงานกลุ่มที่ 3 ที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้าไปกำกับดูแล เน้นการใช้พลังงานที่คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นหัวใจ
สำคัญ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า มีการจดประกอบและขยายกิจการโรงงานทั้งสิ้น 1,601 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 154,876.26 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบการลงทุนกับช่วงระยะเวลาเดียวกันถือว่ามีการเติบโตขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พบว่า มีการเติบโตสูงขึ้น 44.83 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การเติบโตที่เกิดขึ้นยังช่วยให้เกิดการจ้างงานกว่า 36,554 คน เติบโตจากเดิม 35,147 คน หรือเติบโตร้อยละ 4
เป้าหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรมคือ การส่งเสริมโรงงานสีเขียวให้มีมากขึ้นทุกปี ปีละ 2,000 โรง หรือให้มากกว่า 5 หมื่นแห่งในอนาคต โดยปัจจุบันมีโรงงานสีเขียวอยู่แล้วกว่า 2 หมื่นโรง ซึ่งทั้งหมดมุ่งหน้าตามกรอบเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรม ของไทยให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัย และก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 อย่างมีเสถียรภาพต่อไป

Comments

More Events